อาการที่บอกว่า ลูกเหนื่อยเกินไปหรือง่วงเกินไป เมื่อลูกไม่ได้นอนพักผ่อนระหว่างวัน หรือช่วงระยะเวลาที่ตื่นนานกว่าระยะเวลาของการนอนหลับ เนื่องจากเด็กๆ ในวัยนี้ ต้องการการนอนที่มากกว่าผู้ใหญ่หรือเด็กที่โตกว่านี้ ร่างกายลูกจะไม่สามารถจัดการตัวเองให้ตื่นนานขนาดนี้ได้ โดยช่วงเวลาที่เด็กแรกเกิดตื่นในแต่ละครั้งนั้นไม่ควรเกิน 45 นาที ซึ่งทำให้เด็กแรกเกิดหลายๆ คน มีอาการเหนื่อยเกินไปหรือง่วงเกินไป จนทำให้นอนหลับยาก นอนน้อย ตื่นบ่อยได้นั่นเองค่ะ อาการที่บ่งบอกว่าลูกเหนื่อยเกินไปหรือง่วงเกินไปแล้ว นั่นก็คือ ขยี้หน้าขยี้ตา เบือนหน้าหนีออกจากสิ่งเร้าต่างๆ หาว สะอึก หรือจามบ่อยๆ งอแง และโวยวาย ติดหนึบกับคุณพ่อหรือคุณแม่หรือพี่เลี้ยง ไม่ยอมนอนเอง ช่วงที่ลูกตื่นจะนานมากขึ้นเรื่อยๆ
ทำไมง่วงแล้วไม่ยอมนอน Overtired Baby หรือเด็กที่เหนื่อยเกินไปหรือง่วงมากเกินไปจนทำให้นอนยาก ไม่ยอมนอน หรือนอนไม่หลับนั่นเองค่ะ ลูกจะมีอาการร้องไห้งอแง หลังที่นอนหลับไปได้สักพักก็จะตื่นในเวลาที่รวดเร็ว และไม่ยอมหลับอีกรอบแล้วละค่ะ งานเข้ากันเลยนะคะคุณพ่อคุณแม่ ยิ่งถ้าเป็นกลางดึกของวันทำงานด้วยละก็ เมื่อลูกเหนื่อยเกินไป หรือง่วงเกินไป ร่างกายของลูกเมื่อถึงจุดที่พร้อมแก่การเข้านอนมาแล้ว ร่างกายก็จะส่งสัญญาณความเครียดที่เกิดขึ้นออกมา ฮอร์โมนความเครียดหรือฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีนจะเข้ามามีบทบาทตามสะแสเลือดในร่างกาย ทำให้ร่างกายยากที่จะสงบและผ่อนคลาย ซึ่งรูปแบบการทำงานของร่างกายนี้นั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นวัฏจักร และทำให้อาการนอนยากของลูกยิ่งยากๆ ขึ้นไปอีกค่ะ
ธีป้องกันไม่ให้ลูกเหนื่อยเกินไปหรือง่วงเกินไป คุณพ่อคุณแม่ควรกำหนดเวลาดังนี้ค่ะ หากลูกตื่นนอนไปโอกาสที่ลูกจะเหนื่อยเกินไปหรือง่วงเกินไป ก็จะยิ่งสูงขึ้นทำให้นอนหลับได้ยากขึ้นนะคะ ทารกแรกเกิด – 6 เดือน ควรตื่นครั้งละไม่เกิน 45-60 นาที เด็กอายุ 6 เดือน – 1 ปี ควรตื่นครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง เด็กอายุ 1-3 ปี ควรตื่นครั้งละไม่เกิน 4-5 ชั่วโมง นอกจากนี้หากลูกจะนอนนานเกินไปบ้าง ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงจนเกินไป ปล่อยให้นอนนานๆ ได้นะคะ อีกวิธีที่จะช่วยให้เด็กๆ ปรับเวลาได้ก็คือ การทำตารางกิจวัตรประจำวันให้เหมือนกันทุกวัน เด็กๆ จะเรียนรู้ได้เองว่าเมื่อที่ถึงเวลากิน เล่น หรือนอนค่ะ
วิธีรับมือให้ลูกนอนหลับได้นานๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเอาลูกนอนคือ ทำให้ลูกสงบลงก่อน อาจจะด้วยวิธีใดๆ ก็แล้วแต่ เช่น ห่อตัวลูก กอดหรืออุ้มลูก เอาลูกเข้าเต้าดูดจนกว่าจะพอใจ กล่อมลูกหรือโยกเบาๆ เปิดเพลงหรือเสียงธรรมชาติ (White Noise) ปิดไฟภายในห้องให้มืดสนิท ร้องเพลงกล่อมลูก สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย ในวัยเตาะแตะหรือวัยอนุบาล ให้อ่านนิทานที่มีเนื้อหาไม่ตื่นเต้นมากนัก ในห้องที่มีแสงไฟสลัวๆ หรือให้เล่นเงียบๆ คนเดียว หรือปล่อยให้อ่านหนังสือเงียบๆ บริเวณเตียงนอนนั่นแหละค่ะ