1 Các câu trả lời
รู้จักกับภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะเบาหวานที่เกิดขึ้นและวินิจฉัยได้ในระหว่างตั้งครรภ์ สามารถพบได้ประมาณร้อยละ 5ของสตรีตั้งครรภ์ทั้งหมด ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าสตรีตั้งครรภ์ทุกรายจะมีโอกาสเกิดภาวะนี้เท่าๆ กัน เพราะสตรีตั้งครรภ์บางรายอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้มากกว่าสตรีทั่วไป ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่ ญาติพี่น้องมีประวัติเป็นเบาหวาน, อายุ 30 ปีขึ้นไป, เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 4กิโลกรัมขึ้นไป, เคยคลอดบุตรที่มีความพิการแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ, เคยมีประวัติทารกเสียชีวิตในครรภ์ โดยไม่ทราบสาเหตุ, เคยมีภาวะเบาหวานแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน, อ้วน, มีภาวะความดันโลหิตสูง, ตรวจพบภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ, และตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงตามที่กล่าวมาข้างต้น ควรได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อวินิจฉัยภาวะ เบาหวานเมื่อมาฝากครรภ์ โดยวิธีเจาะเลือดตรวจหาระดับน้ำตาลหลังจากรับประทานน้ำตาลเข้มข้น 50 กรัม ซึ่งถ้าผลการตรวจผิดปกติก็จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันและวินิจฉัยโดยการเจาะเลือดตรวจหาระดับน้ำตาลก่อนและหลังรับประทานน้ำตาลเข้มข้น 100 กรัม ในช่วงระยะเวลา 1, 2 และ 3ชั่วโมงตามลำดับ ในกรณีที่ตรวจไม่พบความผิดปกติใด ควรทำการตรวจซ้ำเมื่อตั้งครรภ์ประมาณ 6 - 7 เดือน และประมาณ 8 เดือนอีกครั้ง ผลเสียสำคัญของภาวะเบาหวานต่อการตั้งครรภ์นั้น อาจเกิดขึ้นได้ทั้งมารดาและทารกในครรภ์ แต่ผลเสียต่อมารดาที่เพิ่มขึ้นมา คือ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ หรือความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ส่วนผลเสียต่อทารกในครรภ์นั้น โอกาสที่จะแท้งบุตรอาจสูงขึ้น และอาจเพิ่มโอกาสที่ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์ได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเกิดความพิการแต่กำเนิดสูงขึ้น รวมถึงทารกอาจมีน้ำหนักตัวมากทำให้คลอดลำบาก และมีโอกาสเกิดอันตรายระหว่างการคลอดได้สูงขึ้น นอกจากนั้นในระยะหลังคลอด อาจเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ,ตัวเหลือง,ระดับเกลือแร่ต่างๆ ผิดปกติไปได้อีกด้วย ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้สามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงลงได้ ถ้าสตรีตั้งครรภ์ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ และได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมในระหว่างการตั้งครรภ์ ดูแลอย่างไรเมื่อตั้งครรภ์และมีภาวะเบาหวาน ควรได้รับการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้ใกล้เคียงภาวะปกติมากที่สุด ส่วนวิธีการควบคุมน้ำตาลที่สำคัญ ได้แก่ การควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หากการควบคุมดังกล่าวไม่ได้ผลก็จำเป็นต้องใช้ยาอินสุลินฉีดเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล ในการควบคุมอาหารนั้น สตรีตั้งครรภ์ควรลดอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต (น้ำตาลหรือแป้ง) และเพิ่มอาหารจำพวกโปรตีน (เนื้อสัตว์) และผักให้มากขึ้น โดยเฉพาะผักจำพวกใบเพราะมีใยอาหารและวิตามินมาก ส่วนผักพวกหัวและถั่วต่าง ๆ จะมีสารอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและพลังงานมากกว่าผักจำพวกใบ ส่วนนมนั้นควรรับประทานนมสดชนิดจืดและพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย ควรงดหรือหลีกเสี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสมนั้น สามารถปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้ดูแลและนักโภชนาการได้ตลอดเวลาระหว่างการตั้งครรภ์ ในระหว่างการฝากครรภ์ แพทย์อาจนัดตรวจครรภ์บ่อยกว่าปกติเพื่อประเมินภาวะสุขภาพของทั้งมารดาและทารก รวมทั้งตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลเพื่อประเมินและปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสม ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาอินสุลินฉีดเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลอาจจำเป็นต้องรับเข้า รักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม รวมทั้งแนะนำการฉีดยาอินสุลินด้วยตนเองอีกด้วย การใช้ยาดังกล่าวจะทำเฉพาะในรายที่ระดับน้ำตาลสูงมาก ไม่สามารถควบคุมด้วยอาหารได้เท่านั้น ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อใกล้คลอด เมื่อถึงระยะคลอด สตรีตั้งครรภ์ส่วนใหญ่สามารถคลอดได้เองตามปกติถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นที่รุนแรง ส่วนการผ่าท้องคลอด แพทย์จะทำในกรณีที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น ภายหลังคลอดส่วนใหญ่แล้วการดำเนินโรคของภาวะเบาหวานจะดีขึ้นเอง ไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเป็นพิเศษเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ตามสตรีที่มีภาวะเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานในอนาคตสูงกว่าสตรีที่ตั้งครรภ์ปกติจึงจำเป็นต้องดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นประจำ รวมทั้งควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาการเกิดโรคเบาหวาน อย่างสม่ำเสมออีกด้วย จะเห็นว่าภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้ แต่หากได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ก็จะสามารถช่วยป้องกันการลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ ดังกล่าวลงได้ การที่สตรีตั้งครรภ์ตระหนักถึงความเสี่ยงของตนเอง และการมารับบริการการฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ระยะแรกและสามารถให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องเพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งมารดาและทารกในครรภ์ อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ชั้น 3 Tel. 0-24197000 ต่อ 4666,4777,4888,4999 Fax : 0-24182662