4 Các câu trả lời
ท้องแข็งเพราะมดลูกบีบตัว อาการท้องแข็งแบบนี้ มดลูกในท้องของคุณแม่จะมีอาการแข็งทั้งหมด ไม่แข็งเป็นบางจุดเหมือนอาการท้องแข็งเพราะเด็กโก่งตัว และจะมีอาการปวดท้อง เหมือนปวดประจำเดือน อาการท้องแข็งแบบนี้นี่แหละครับที่มักมีปัญหา โดยอาการท้องแข็งเพราะมดลูกบีบตัวนั้น สามารถแยกย่อยได้ดังนี้ 1. ท้องแข็งของแท้ (มดลูกบีบตัวก่อนกำหนด) ปกติแล้ว มักจะไม่ค่อยเกิดขึ้นช่วงก่อน 28 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ช่วงที่พบว่ามีอาการท้องแข็ง มดลูกบีบตัวก่อนกำหนดบ่อยที่สุด ก็คือช่วงอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ซึ่งก็เป็นช่วงที่ลูกในท้องดิ้นมากที่สุด การที่ลูกดิ้นมาก ๆ ก็อาจมีส่วนไปกระตุ้นทำให้มดลูกบีบตัวบ่อยขึ้นได้ด้วยเหมือนกัน และถ้าผ่านช่วง 32-34 สัปดาห์นี้ไปแล้ว อาการท้องแข็งก็จะน้อยลง คุณแม่ท้องบางคน พอถึงเวลาครบกำหนดคลอด แต่กลับไม่มีอาการเจ็บท้องคลอด จนบางทีเลยกำหนดไปเลยก็มี แต่หากแม่ท้องมีอาการท้องแข็งบ่อย และถี่ขึ้น ไม่ได้แข็งเป็นบางจุด และบางทีรู้สึกแข็งมาก หรือแข็งจนรู้สึกแน่นหายใจไม่ออก และอาการไม่ดีขึ้น ควรจะรีบไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุด เพราะหากท้องแข็งแล้วไม่ได้รับการดูแลรักษา มดลูกจะบีบตัวจนปากมดลูกเปิด ตามมาด้วยการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดได้ 2. ท้องแข็งตามธรรมชาติ (Braxton Hicks Contraction) แม่ท้องบางคนอาจมีอาการท้องแข็งที่เกิดจากมดลูกบีบตัวได้ เป็นการแข็งตัวนิด ๆ หน่อย ๆ ที่เกิดขึ้นได้เองเป็นธรรมชาติ หรือที่เรียกกันว่า Braxton Hicks Contraction แบบนี้ไม่เป็นอันตรายครับ ท้องแข็งจากสาเหตุอื่นๆ จริง ๆ แล้วสาเหตุของอาการท้องแข็งนั้น มีมากมาย โดยอาจเกิดจากคุณแม่ไม่แข็งแรง สุขภาพไม่ดี อาจเป็นเบาหวาน ความดันสูง หรือมดลูกไม่แข็งแรง มดลูกมีโครงสร้างไม่ปกติ มีเนื้องอกของมดลูก หรือเกิดจากครรภ์แฝด เด็กตัวใหญ่ น้ำคร่ำมาก หรือ แม้แต่มีตกขาว มีการอักเสบของปากมดลูกก็เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ๆ แต่สาเหตุที่พบมากที่สุด มากกว่า 30% ก็คือ ไม่ทราบสาเหตุก็เป็นไปได้
ท้องแข็งเพราะกินอิ่ม สำหรับแม่ท้องบางคน โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแก่ อาจจะมีอาการท้องแข็งหลังกินข้าว กินอะไรเข้าไปก็รู้สึกแน่นไปหมด บางครั้งก็แน่นจนแทบหายใจไม่ออก ต้องนั่งสักพัก ยืดตัวยาว ๆ สักพักอาการก็จะดีขึ้นเอง อาการท้องแข็งแบบนี้เกิดจากการที่ความจุของช่องท้องมีพื้นที่จำกัด มดลูกที่โตขึ้นตามอายุครรภ์ไปเบียดแย่งที่กับอวัยวะอื่น ๆ ในช่องท้อง กระเพาะปัสสาวะถูกเบียด กระเพาะอาหารลำไส้ก็ถูกเบียดขึ้นไปจนติดอยู่ใต้กระบังลม พอกินอะไรเข้าไปก็จะรู้สึกแน่นไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่ตัวเล็ก ๆ สั้น ๆ ก็จะมีอาการแบบนี้ง่ายเป็นพิเศษ อาการท้องแข็งแบบนี้ ไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดอาการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดนะครับ โดยมากจะเป็นความรู้สึกท้องแข็งแน่นท้องมากกว่า ถ้าไปพบคุณหมอเมื่อจับมดลูกดูก็จะพบว่า ท้องไม่ค่อยแข็งมาก หรือเรียกว่าอาการท้องตึงมากกว่า และไม่ได้เกิดจากมดลูกมีการบีบตัว คำแนะนำที่ช่วยลดอาการนี้ คือ ควรกินอาหารอ่อน ย่อยง่าย แบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ รับประทานครั้งละน้อย ๆ หลังทานแล้วก็ต้องนั่งให้เรอออกมาก่อน แล้วพยายามอย่าให้ท้องผูก และควรขับถ่ายเป็นประจำทุกวัน ก็จะแน่นท้องน้อยลงครับ
ท้องแข็งเพราะลูกโก่งตัว อาการท้องแข็งแบบแรกที่เจอกันบ่อย ๆ นั่นก็คือท้องแข็งเพราะลูกโก่งตัว โดยแม่ท้องจะรู้สึกว่ามีอาการท้องแข็งแบบ “แข็งบางที่ นิ่มบางที่” ท้องแข็งแบบนี้ เกิดจากเด็กในท้องดิ้น หรือโก่งตัว โดยอวัยวะของลูกในท้องอย่างเช่น ศอก ไหล่ เข่า หัว หรือก้น จะนูนตรงนั้นตรงนี้ไปทั่ว ส่วนที่มักจะนูนโก่งแข็งจนมดลูกเบี้ยวไปข้างนึงเลยก็มักจะเป็นหลัง กับ ก้น อีกด้านนึงก็จะนิ่มกว่า แล้วก็จะรู้สึกลูกด้นเป็นจุดเล็กจุดน้อย ด้านนั้นก็จะเป็นส่วนของมือ ส่วนของเท้า
ท้องแข็งแบบต่างๆ แยกอย่างไร อาการท้องแข็ง ตามความหมายของคุณหมอมักจะหมายถึง การบีบตัวของมดลูก เป็นอาการที่พบได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาการท้องแข็งนี้ มักจะสร้างความกังวลใจให้กับแม่ท้องไม่น้อย บางครั้งพอลุกยืนท้องก็แข็ง ล้มตัวนอนท้องก็แข็งอีก จนแม่ท้องกลัวว่าจะเป็นอันตรายบ้าง กลัวว่าจะเป็นอาการใกล้คลอดบ้าง เรามาดูกันว่า ท้องแข็งแบบต่างๆ แยกอย่างไร มีลักษณะแบบไหนบ้าง